ชง ครม.เพิ่มค่าเวนคืนไฮสปีด 2.1 พันล. ขยายเขตทาง เคลียร์บุกรุก-เวนคืน จบ ต.ค. 64 ส่งมอบ ”ซีพี”

“คมนาคม”เคลียร์พื้นที่บุกรุกและเวนคืน”ไฮสปีด”จบแล้ว มั่นใจ ออกNTP ส่วนนอกเมืองจากสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ต.ค. 64 ส่วนในเมืองเร่งส่งมอบในธ.ค.65 เตรียมชงครม.เพิ่มค่าเวนคืน 2.1 พันล้าน “ซีพี”รับพนักงาน 464 คน เตรียมพร้อมเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่และการรื้อย้ายสาธารณูปโภค โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินครั้งที่ 2/2564 (ครั้งที่ 13) วันที่25 มี.ค.ว่า การเตรียมพื้นที่เพื่อส่งมอบให้ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) เพื่อเข้าก่อสร้างนั้น เป็นไปตามแผนสามารถส่งมอบพื้นที่ได้ภายใน วันที่ 24 ต.ค. 2564 ซึ่งมี 3 ส่วน คือ การโยกย้ายผู้บุกรุก 302 หลัง ดำเนินการเสร็จแล้ว 100% ส่วนการเวนคืนที่ดิน ยังเป็นไปตามแผนงาน โดยคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)ได้อนุมัติงบประมาณในการดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ส่วนการรื้อย้ายสาธารณูปโภคที่ประชุมได้ติดตามรายละเอียดของแต่ละหน่วยงานที่ เพื่อให้ดำเนินการตามแผนงาน

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า การส่งมอบพื้นที่จะแบ่งเป็น 2 เฟส คือ ส่วนนอกเมืองตั้งแต่ สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ซึ่งจะออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) ให้เอกชนเข้าพื้นที่เริ่มก่อสร้างได้ ภายในวันที่ 24 ต.ค2564 ส่วนพื้นที่ในเมืองตั้งแต่ พญาไท-ดอนเมือง มีกำหนดส่งภายใน 2 ปี หรือภายในเดือนต.ค. 2566 ซึ่งจากการติดตามความพร้อมคาดว่าจะสามารถเร่งรัดและส่งมอบได้ไม่เกิน เดือน ธ.ค. 2565 โดยที่ประชุมได้เร่งรัดการรื้อย้าย ท่อน้ำมันของบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (FPT) ท่อน้ำมันของบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด (แทปไลน์) และอาคารไซฟ่อน (คลองส่งน้ำ) บริเวณคลองสามเสน ของสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.)

สำหรับพื้นที่เวนคืนประมาณ 908 แปลง หรือประมาณ 750 สัญญา ขณะนี้ มีประชาชนเข้ามาทำสัญญาแล้ว 78% ที่เหลือคาดว่าจะทยอยเข้ามาในเดือนเม.ย.และคาดว่าจะเซ็นสัญญาได้หมดช่วงปลายเดือนส.ค.-ต้นก.ย. 2564 ส่วนกรอบวงเงินเวนคืนที่เพิ่มขึ้น จาก 3,500 ล้านบาท เป็น 5,600 ล้านบาท จะเสนอขอขยายกรอบวงเงินค่าเวนคืนจากครม.วันที่ 30 มี.ค.โดยขอใช้งบกลาง 600 ล้านบาท ส่วนที่เหลือรฟท.จะใช้งบประมาณประจำปีดำเนินการ

กรอบวงเงินเวนคืนที่เพิ่มขึ้นประมาณ 2,100 ล้านบาท เนื่องจากราคาที่ดินเพิ่มขึ้นจากกรอบประเมินเดิมทำไว้ตั้งแต่ปี 2560 เมื่อมีการสำรวจพื้นที่ก่อสร้างจริง และประเมินราคาที่ดินในปัจจุบันตามราคาตลาด
ตามพ.ร.บ.เวนคืนฯ ผู้ถูกเวนคืนมีสิทธิ์ที่จะได้รับเงินค่าเวนคืนเพิ่ม และมาจากการขยายพื้นที่เขตทางเพิ่มจาก 25 เมตรเป็น 35-50 เมตรในบางจุด เพื่อให้เพียงพอต่อรัศมีโค้ง จุดเบี่ยงหลบประตูน้ำกรมชลประทาน และพื้นที่สำหรับวางเครื่องจักรขนาดใหญ่เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยการทำงาน และประชาชนในขณะก่อสร้าง ช่วงสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง และอีกส่วนเป็นวงเงินเผื่ออุทธรณ์

ส่วนการย้ายตำแหน่งสถานีนั้น ยืนยันว่า ยังไม่มี และทางเอกชนไม่ได้เสนออะไรมาในตอนนี้ ดังนั้น ทุกอย่างยังเป็นไปตามเดิม ส่วนในอนาคต เอกชนมีสิทธิ์ในการขอเพิ่มหรือขอย้ายได้ ซึ่งจะเป็นการพิจารณาเพื่อเพิ่มความสะดวกในการบริการ

ส่วนการรับโอนโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ภายใน 2 ปี หลังการลงนามในสัญญา หรือภายในวันที่ 24 ต.ค. 2564 พร้อมชำระเงิน จำนวน 10,671,090,000 นั้น ขณะนี้ทางเอกชนได้มีการออกแบบเพื่อปรับปรุงระบบที่เกี่ยวข้องกับการบริการต่างๆ รวมถึงเตรียมพร้อมด้านบุคลากร จำนวน 464 คน โดยอยู่ระหว่างการเปิดรับสมัคร ซึ่งมีพนักงานจากแอร์พอร์ตลิงก์เดิม และบุคคลภายนอก โดยจะครบจำนวนเดือนก.ค. 2564 เพื่อเตรียมพร้อมในการทดสอบอุปกรณ์และระบบย่อย ทดสอบระบบการเดินรถทั้งหมด และรับรองความปลอดภัยในการเดินรถก่อนส่งมอบในเดือน ต.ค. 2564

 

Scroll Up