ส่องเมกะโปรเจกต์ค้างท่อ รอรัฐบาล ‘เศรษฐา’ เคาะสนิม

ส่องโครงการลงทุนคมนาคม รอรัฐบาลใหม่เคลียร์ “รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก” สร้างงานโยธาเสร็จ 100% แต่เดินรถไม่ได้ “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” รอรัฐบาลหนุนงบล้างหนี้ 7 หมื่นล้าน ขณะที่รถไฟความเร็วสูงอีอีซีรอแก้สัญญา พร้อมดันประมูลรถไฟทางคู่เฟส 2

โครงการลงทุนภาครัฐในขณะนี้ต้องยอมรับว่าอยู่ในช่วงเกียร์ว่าง งานสะดุด หลังจากที่ไม่มีรัฐบาลอำนาจเต็มเข้ามาตัดสินใจ โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีสัญญาผูกพันและเกี่ยวเนื่องกับภาคเอกชน ที่ขณะนี้ยังคงค้างคาแม้ว่างานก่อสร้างจะเดินหน้าแล้วเสร็จ ก็ยังไม่สามารถเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้ โดยโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่ยังเจอสารพัดปัญหารอการแก้ไขนั้น อาทิ

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ)

เนื่องจากโครงการนี้ถูกพ่วงสัญญาการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มตลอดทั้งสาย (บางขุนนนท์-มีนบุรี) ซึ่งบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) หรือ BEM เสนอผลประโยชน์ดีที่สุด แต่เป็นการประมูลที่ถูกตั้งข้อสังเกตหลายประเด็น เช่น หลักเกณฑ์ตัดสินผู้ชนะประมูล ข้อเสนอรับเงินอุดหนุนค่าก่อสร้าง การกำหนดเงื่อนไขผู้เข้าประมูลที่อาจเข้าลักษณะการกีดกัน

ขณะที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้สรุปสถานะโครงการก่อสร้างงานโยธารถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ดำเนินการแล้วเสร็จ 100% แต่ยังไม่สามารถเปิดเดินรถให้บริการประชาชนได้ เนื่องจากสัญญาเดินรถได้รวมอยู่กับสัญญาการจัดหาเอกชนร่วมลงทุนเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และก่อสร้างงานโยธาส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ

ทั้งนี้ ปัจจุบันการจัดหาเอกชนร่วมลงทุนนั้น แม้จะมีการเปิดประกวดราคาและได้ตัวเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอดีที่สุด แต่ยังไม่สามารถลงนามสัญญาร่วมลงทุนได้ เนื่องจากปัจจุบันโครงการนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองกลาง กรณีที่มีเอกชนยื่นฟ้องเกี่ยวกับข้อกำหนดหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนครั้งที่ 2 มีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติ และหลักเกณฑ์คัดเลือกแตกต่างจากการประกวดราคาครั้งแรก ซึ่งบทสรุปของโครงการรถไฟฟ้าสายนี้จะเป็นอย่างไร ยังคงต้องรอการพิจารณาจากศาลปกครอง แต่ความชัดเจนที่เห็นชัด คือโครงการนี้ล่าช้าจากแผนประมาณ 2 ปี

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

โดยโครงการนี้เป็นปัญหาระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับภาระหนี้คงค้างกับเอกชนคู่สัญญารวมประมาณ 50,000 ล้านบาท และยังมีภาระที่ต้องรับโอนบริหารโครงการจาก รฟม.ซึ่งต้องชำระค่างานโยธาก่อสร้างส่วนต่อขยายรวมประมาณ 70,000 ล้านบาท โดยหาก กทม.ยังไม่สามารถเคลียร์หนี้และรับโอนสิทธิบริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายมาดูแล ก็จะทำให้ กทม.ไม่สามารถจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายดังกล่าว และไม่มีเงินสะสมเพื่อไปชำระค่าจ้างแก่เอกชนตามสัญญา

ที่มา – https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1085407

Scroll Up