เทียบไทม์ไลน์ 2 ไฮสปีด รถไฟไทย-จีนสร้างฟันหลอ “CP” เปิดหน้าดิน ต.ค.

รีวิว 2 โปรเจ็กต์รถไฟความเร็วสูงประเทศไทย สายไทย-จีน กทม.-โคราช ร.ฟ.ท.เดินหน้าสร้างแบบฟันหลอ ติดปมมรดกโลก รอศาลปกครองพิพากษาร้องผลประมูล ออกหนังสือเริ่มงานเพิ่ม 4 สัญญาจากภาชี-โคราช ส่อลากยาวช่วงดอนเมือง-บางซื่อ จุดทับซ้อนไฮสปีด ซี.พี. เตรียมเซ็นปิดจ็อบ 4 สัญญา กว่า 3.6 หมื่นล้าน กัดฟันยืนเป้าเปิดปี’68 ส่วนไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน รอ ครม.เคาะค่าเวนคืนเพิ่ม 2.1 พันล้าน เร่งส่งมอบเฟสแรก “สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ปีนี้ เร่งให้เสร็จ 5 ปี

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมของโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท (รถไฟไทย-จีน) แบ่งสร้าง 14 สัญญา ขณะนี้ได้ผู้รับเหมาแล้ว 13 สัญญา ยังเหลือประมูลช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. กว่า 10,000 ล้านบาท รอปรับแบบร่วมกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินของกลุ่ม ซี.พี.

“ร.ฟ.ท.ต้องการจะนำงานมาสร้างเอง แต่ปลัดคมนาคมไม่อยากให้แก้ไขในสัญญาร่วมทุน เกี่ยวข้องกับเงินอุดหนุนโครงการ 117,227 ล้านบาท ที่รัฐจะต้องชำระคืน ซี.พี. การเดินหน้าก่อสร้างช่วงนี้จะดูว่าให้ ซี.พี.เข้ามาสร้างเลย หรือให้รถไฟไทย-จีนชะลอประมูล ต้องหารือจีนที่เตรียมงานด้านระบบ เพราะกว่า ซี.พี.จะเข้าพื้นที่ต้องรออีก 2 ปี”

ให้เริ่มงานอีก 4 สัญญา

ปัจจุบันสร้างช่วงกลางดง-ปางอโศก 3.5 กม.เสร็จแล้ว เป็นงานถมคันดิน มีกรมทางหลวงเป็นผู้สร้าง ใช้เวลา 2 ปี 6 เดือน อยู่ระหว่างสร้างสัญญา 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก 11 กม. มี บจ.ซีวิลเอนจีเนียริง เป็นผู้ก่อสร้าง ยังช้า 56% ติดส่งมอบพื้นที่ รื้อย้ายระบบอาณัติสัญญาณรถไฟปัจจุบัน ล่าสุดได้ขยายสัญญาให้อีก 217 วัน ถึงวันที่ 26 พ.ค. 2564

สำหรับ 5 สัญญา วงเงิน 40,275.33 ล้านบาท ที่เซ็นเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2563 จะทยอยเริ่มงานในปีนี้ มีออกหนังสือให้เริ่มงาน 4 สัญญา จะใช้เวลา 1,080 วัน หรือ 3 ปี เป็นงานก่อสร้างตั้งแต่บ้านภาชี-โคราช

เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2564 ให้เริ่มงานสัญญาที่ 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด 37.45 กม. 9,848 ล้านบาท มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ก่อสร้าง และสัญญาที่ 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา 12.38 กม. 7,750 ล้านบาท ก่อสร้างโดยกิจการร่วมค้า SPTK (นภาก่อสร้าง ร่วมกับรับเหมาประเทศมาเลเซีย) เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2564 เริ่มงานสัญญาที่ 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง 21.6 กม. 9,838 ล้านบาท มี บจ.กรุงธนเอนยิเนียร์ ก่อสร้าง และสัญญา 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย 12.99 กม. 8,560 ล้านบาท มี บจ.ซีวิลเอนจีเนียริงก่อสร้าง ส่วนสัญญาที่ 3-2 อุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง 12.23 กม.ของ บมจ.เนาวรัตน์ พัฒนาการ 4,279 ล้านบาท ติดขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ จะให้เริ่มงานได้วันที่ 19 เม.ย.นี้

“จะไม่มีขยายสัญญาก่อสร้าง ผู้รับเหมาต้องเร่งงานให้เสร็จ 3 ปี เพราะโครงการล่าช้ามานานแล้ว”

 

 

เร่งเซ็นอีก 4 สัญญา 3.6 หมื่น ล.

ขณะเดียวกัน เตรียมจะเซ็นงานอีก 4 สัญญา มูลค่า 36,153 ล้านบาท ได้แก่ สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร 21.8 กม.ของกลุ่มกิจการร่วมค้า SPTK บจ.ซิโนไฮโดร, บจ.สหการวิศวกร และ บจ.ทิพากร 8,626.8 ล้านบาท สัญญา 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ 23 กม. ของกลุ่มกิจการร่วมค้า SPTK บจ.ไชน่าสเตทคอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น, บมจ.เนาวรัตน์ฯและ บจ.เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) 11,525.36 ล้านบาท

สัญญาที่ 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อยของ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ 6,573 ล้านบาท และสัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี 31.6 กม. ของ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น 9,429 ล้านบาท จะเว้นสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว 13.3 กม. ของ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ 9,913 ล้านบาท ยังติดเรื่องแบบสถานีอยุธยา จะใช้แบบเก่าของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ผ่านการอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว ต้องรายงานให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีรับทราบก่อน เพราะใช้อำนาจคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีนแก้ไขปัญหานี้

เดินหน้าสร้างแบบฟันหลอ

“รถไฟไทย-จีนเดินหน้าสร้างแบบฟันหลอ ช่วงไหนพร้อมก็ทำไปก่อน ซึ่งสัญญา 3-1 น่าจะนานรอศาลปกครองมีคำพิพากษา หลังอิตาเลียนไทยที่จับกับรับเหมาจีนร้องคุณสมบัติของผู้เสนอราคาต่ำสุด ยังไม่รู้ว่าจะยกเลิกประมูลใหม่หรือรอศาล ส่วนการเปิดบริการตอนนี้ยังคงเป้าไว้ในปี 2568 แต่ดูแนวโน้มไทม์ไลน์อาจจะขยับ ยังเหลือเวนคืนที่ยังไม่ได้เริ่มอีก”

สำหรับสัญญา 3-1 เป็นงานช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. มีกลุ่มบีพีเอ็นพีเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด วงเงิน 9,330 ล้านบาท ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ล่าสุด ร.ฟ.ท.ชี้แจงเกี่ยวกับการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างงานสัญญาที่ 3-1 งานโยธาสำหรับช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้าว่า ตามที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลางพิจารณาให้กลุ่มบีพีเอ็นพีประกอบด้วย บจ.นภาก่อสร้าง และพันธมิตรจากประเทศมาเลเซีย มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในการเข้าร่วมประมูลโครงการ

ต่อมาทาง บจ.ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 เอ็นจิเนียริง กรุ๊ป ร่วมกับ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ภายใต้ชื่อ กิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10 JV ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง

ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน 3-1 ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ไฮสปีด EEC ของบฯเวนคืนเพิ่ม

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันที่ 1 มี.ค. 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รับทราบความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงิน 224,544 ล้านบาท มี บจ.รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน (ซี.พี.) เป็นคู่สัญญา โดยมีค่าเวนคืนเพิ่มขึ้นประมาณ 600 ล้านบาท จะเสนอขออนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) จ่ายเวนคืนเร่งส่งมอบพื้นที่ให้กลุ่ม ซี.พี.ในเดือน ต.ค.นี้ ขณะที่การส่งมอบพื้นที่เชิงพาณิชย์มักกะสัน 140 ไร่ คาดว่าจะเป็นในเดือน มี.ค. 2565 ยังติดการรื้อย้ายพวงราง

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ค่าเวนคืนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพิ่มขึ้น 2,100 ล้านบาท จากเดิมที่ ครม.อนุมัติไว้ 3,570 ล้านบาท เป็น 5,670 ล้านบาท ต้องขอ ครม.อนุมัติงบฯกลาง 600 ล้านบาทในเดือน มี.ค. จ่ายให้ผู้ถูกเวนคืนให้เสร็จ พ.ค. เพื่อส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาให้ ซี.พี.เดือน ส.ค.-ต.ค.นี้ เริ่มงานก่อสร้าง ส่วนที่เหลือ 1,500 ล้านบาท จะขอในปี 2565 จ่ายให้กับผู้ถูกเวนคืนช่วงพญาไท-ดอนเมือง ส่งมอบในดือน ต.ต. 2566

ค่าที่ดินพุ่ง 3-6 เท่า

งบฯเวนคืนที่เพิ่มขึ้น 1.การเวนคืนที่ดิน คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้กำหนดพื้นที่เวนคืนเพิ่มเติมอีก 69.5 ไร่ เนื่องจากมีการออกแบบด้านวิศวกรรมเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการก่อสร้างและการเดินรถ รวมถึงปรับตัวคูณราคาประเมินที่ดินใหม่จากเดิม 2.35 เท่าของราคาประเมิน เป็น 3.08-6.97 เท่าของราคาประเมิน ทำให้ที่ดินที่จะต้องเวนคืนเพิ่มขึ้นจากเดิม 850 ไร่ 794 แปลง เป็น 919 ไร่ 931 แปลง โดยวงเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้น 1,069 ล้านบาท ทำให้วงเงินจากเดิม 2,763 ล้านบาท เพิ่มเป็น 3,832 ล้านบาท

ส่วนการทำสัญญาหลังประกาศค่าทดแทนจากทั้งหมด 754 สัญญา พื้นที่รวม 920 ไร่ วงเงิน 4,077.02 ล้านบาท ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 74% หรือ 556 สัญญา พื้นที่ 694 ไร่ วงเงิน 2,877 ล้านบาท เหลืออีก 26% จะเร่งทำสัญญาให้เสร็จภายในวันที่ 15 มี.ค. 2564 นี้ หากไม่มาทำสัญญา ร.ฟ.ท.จะออกประกาศครอบครองและวางทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 เพื่อให้เกิดการครอบครองภายในวันที่ 19 ส.ค. 2564

ยังมีอาคารสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้นจาก 245 อาคาร เป็น 696 อาคาร คิดเป็นวงเงินค่าทดแทนอาคารก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น 102.266 ล้านบาท ทำให้วงเงินจากเดิม 762.73 ล้านบาท เพิ่มเป็น 864.996 ล้านบาท

พร้อมส่งมอบพื้นที่ ต.ค.นี้

การส่งมอบพื้นที่การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง คาดว่าจะส่งมอบส่วนแรกช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาก่อนในเดือน ต.ค. 2564 นี้ จะส่งมอบพร้อมไปกับการโอนระบบรถไฟแอร์พอร์ตเรลลิงก์ช่วงพญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ โดย ซี.พี.จะต้องจ่ายค่าใช้สิทธิ 10,671 ล้านบาท ทั้งนี้ ทาง ซี.พี.ขอต่อรองจะจ่ายเป็นงวด ๆ จะไม่จ่ายเป็นเงินก้อนเดียวจบ ในรายละเอียดการจ่ายยังไม่เปิดเผยเนื่องจากยังอยู่ระหว่างการเจรจา

“ต.ค.นี้ต้องส่งมอบแอร์พอร์ตลิงก์ พื้นที่ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเฟสแรก และที่ดินมักกะสันบางส่วนที่ไม่ติดพวงราง ส่วนสถานีศรีราชารอ ซี.พี.สร้างอาคารทดแทนให้เสร็จก่อน ทั้งนี้ ซี.พี.ต้องสร้างรถไฟความเร็วสูงให้เสร็จใน 5 ปีตามแผนในปี 2569”

ขณะที่ส่วนสุดท้ายช่วงส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตเรลลิงก์ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ได้ในปี 2566 เนื่องจากต้องเคลียร์อุปสรรคการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค 2 จุด คือ คลองไซฟอนใต้คลองสามเสนของสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และท่อส่งน้ำมันของ บจ.ขนส่งน้ำมันทางท่อ (FPT) ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้หน่วยงานเจ้าของระบบสาธารณูปโภคยืนยันว่ามีเงินเพียงพอที่จะดำเนินการเองได้ โดยอยู่ระหว่างกำหนดจุดเหมาะสมในการเคลื่อนย้าย

ที่มา : www.prachachat.net/property/news-624550

Scroll Up