เลขาฯอีอีซี พร้อมส่ง NTP ไฮสปีด 3 สนามบิน มิ.ย.66 ลุ้นซี.พี.ได้ BOI ทันกำหนด

‘จุฬา สุขมานพ’ เลขาฯอีอีซีคนใหม่ ชี้พร้อมส่งมอบหนังสือ NTP ให้เริ่มงานก่อสร้าง ไฮสปีด 3 สนามบิน 2.24 แสนล้านบ. เหลือเงื่อนไขเดียว รอซี.พี.ได้ BOI เมื่อไหร่ พร้อมส่งมอบทันที ระบุไม่ต้องรอแก้สัญญาจบ สามารถส่งมอบบนเงื่อนไขสัญญาเดิมไปก่อนได้ เผยเหลือแก้ 2 ปม ‘เหตุสุดวิสัย-เคลียร์สร้างไปจ่ายไป’

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 7 เมษายน 2566 นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท ที่มี บจ.เอเชีย เอราวัณ (ซี.พี.) เป็นผู้รับสัมปทาน 50 ปี ปัจจุบันยังรอเงื่อนไขในการส่งมอบหนังสือให้เริ่มต้นงาน (Notice to Proceed: NTP) อีกส่วนหนึ่งคือ การรอให้ ซี.พี.ได้การสนับสนุนการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ส่วนจะทันการส่งมอบในเดือน มิ.ย. 2566 หรือไม่ ก็ต้องรอซี.พี.ดำเนินการตามที่กล่าวมาแล้วก่อน ซึ่งทางอีอีซีก็พร้อมส่งมอบ NTP ได้ทันที

@แก้สัญญา 2 ปม

ส่วนการแก้ไขสัญญาก็ทำคู่ขนานกันไปได้ ไม่จำเป็นต้องรอ เพราะการส่งมอบพื้นที่ก็ยังดำเนินการบนสัญญาเดิมได้อยู่ ประเด็นที่มีการแก้ไขสัญญาคือ การเปิดให้มีการเจรจากรณีมีเหตุสุดวิสัย เปรียบเทียบก็คือ กรณีที่ประเทศไทยมีภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563-2564 ซึ่ง ณ ตอนนั้น โครงการรถไฟความเร็วสูงลงนามไปเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2562 ช่วงก่อนที่เชื้อโควิดจะระบาด ทำให้ไม่ได้เพิ่มเติมเงื่อนไขส่วนนี้เหมือนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ที่ลงนามเมื่อเดือนมิ.ย. 2563 ซึ่งเป็นช่วยที่เชื้อโควิดระบาดแล้ว จึงมีการเพิ่มเงื่อนไขตรงนี้ลงไป

โดยการแก้ไขสัญญายังอยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไขถ้อยความ ก่อนเสนออัยการสูงสุดพิจารณาตรวจทาน ก่อนเสนอกลับมาที่คณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะเจ้าของโครงการพิจารณา เมื่อพิจารณาแล้วเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจาณาในท้ายสุด โดยยังไม่ได้ตีกรอบเวลาแต่อย่างใด

ส่วนประเด็นที่เอกชนขอปรับเงื่อนไขให้รัฐชำระค่าร่วมลงทุน วงเงิน 118,611 ล้านบาท เร็วขึ้น แบบสร้างไป-จ่ายไป จากเดิมที่กำหนดชำระเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ นั้นก็สามารถเจรจาคู่ขนาน และหากได้ข้อยุติหลังจากแก้ไขสัญญาเพิ่มเติม เรื่องเหตุสุดวิสัยแล้ว หากต้องมีการแก้ไข เยียวยาที่เป็นการใช้สิทธิ์ตามสัญญาที่มีการเพิ่มถ้อยคำเหตุสุดวิสัยไว้แล้วก็สามารถทำได้

@NTP อู่ตะเภา รอทัพเรือประมูลรันเวย์ 2

ขณะที่โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก วงเงิน 290,000 ล้านบาท เป็นอีกโครงการที่เอกชน (บจ. อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น (UTA)) ขอแก้ไขสัญญาเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งสัญญา อู่ตะเภา มีการระบุเหตุสุดวิสัยไว้แล้ว จึงเป็นการบริหารสัญญา ซึ่งจะทำได้คล่องตัวกว่า สัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ทำให้แนวโน้มที่จะออก NTP เริ่มก่อสร้างสนามบินได้ก่อน โดยมีกรณีที่เงื่อนไข กองทัพเรือ (ทร.) ต้องออกประกาศเปิดประมูลก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 ก่อน ซึ่งเรื่องนี้รอรัฐบาลใหม่พิจารณางบประมาณ 2567 เพื่อดำเนินการเท่านั้น

ส่วนการปรับแผนการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา จากเดิม 4 ระยะ เป็น 6 ระยะ โดยเริ่มจากเฟสแรก ที่ 12 ล้านคน/ปีก่อน โดยหากจำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ 80% ของความจุ จึงจะเริ่มพัฒนาเฟสต่อไป โดยเป้าหมายสุดท้ายคือรองรับที่ 60 ล้านคนเท่าเดิม ซึ่งการเจรจาได้ข้อยุติแล้ว

@MRO บินไทย ยังไม่นิ่ง

สำหรับโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ในพื้นที่อีอีซีนั้นจะนำข้อมูลมาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งเดิมได้มอบให้ บมจ. การบินไทย โดยสงวนพื้นที่ให้การบินไทยเหมือนเดิมประมาณ 200 ไร่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า แม้การบินไทยจะไม่เป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว เพราะเป็นการให้สิทธิ์ในฐานะเป็นนิติบุคคล ส่วนพื้นที่อีกประมาณ 300 ไร่ ยังต้องรอความชัดเจนของนักลงทุน ซึ่งปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมการบินฟื้นตัวจากโควิด-19 ยังไม่กลับเป็นปกติ ดีมานด์ยังไม่เท่าปี 2562 ซึ่งจะนำเรื่องนี้มาพิจารณาเพราะเป็นเรื่องการบริหารโอกาสทางธุรกิจด้วย

@รบ.ใหม่รื้ออีอีซีต้องแก้ พ.ร.บ.

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากรัฐบาลใหม่ที่เข้าบริหารประเทศเป็นรัฐบาลที่อยู่คนละขั้วกับรัฐบาลชุดก่อน และมีแนวคิดที่จะล้มเลิกอีอีซี จะทำอย่างไร นายจุฬากล่าวว่า อีอีซีตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2561 หากรัฐบาลใหม่จะโยนทิ้งก็ต้องฉีกกฎหมายฉบับนี้ทิ้ง หรือตรากฎหมายฉบับอื่นขึ้นมาใหม่ แต่จริงๆ อีอีซีเป็นของดีและสวยพอ จะโดนทิ้งง่ายๆ คนภาคตะวันออกคงไม่ยอม แต่เข้าใจว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งอีอีซีไม่ใช่ที่เดี่ยวที่ทำได้ ที่อื่นก็มีประสิทธิภาพไม่ต่างกัน เพียงแต่การพัฒนาอาจไม่เหมือนกัน เพราะการพัฒนาภาคตะวันออกจากอีสเทิร์นซีบอร์ด 30 ปีไม่ได้เปลี่ยนมาก ซึ่งอีอีซีมีไอเดียในการประกอบสร้างการพัฒนาขึ้นมาใหม่

 

ที่มา – https://www.isranews.org/article/isranews/117635-isranews-1000-240.html

Scroll Up