แม่เหล็ก ‘อีอีซี’

ก้าวเข้าสู่ปี 2565 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแบบซึมๆ ด้วยโควิด โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอน ที่ยังระบาดหนัก ทำให้ ศบค.เพิ่มระดับมาตรการคุมเข้ม

แม้การส่งออกยังไปได้ดี แต่ภาคการท่องเที่ยวยังไม่อาจพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติได้ ดังนั้นเครื่องจักรสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยคือการลงทุน โดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ปี 2564 ที่ผ่านมา แม้จะเผชิญกับวิกฤตโควิด แต่การขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ในอีอีซี ยังดำเนินต่อเนื่องและคืบหน้าไปมาก เช่น โครงการร่วมลงทุนรัฐ-เอกชน (PPP) มีเซ็นสัญญาครบทั้ง 4 โครงการ ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดและโครงการพัฒนาแหลมฉบัง มูลค่าลงทุนรวมสูงถึง 654,921 ล้านบาท เป็นส่วนภาคเอกชน 416,080 ล้านบาท หรือ 64% ส่วนภาครัฐ 238,841 ล้านบาท หรือ 36% โดยภาคเอกชนจะให้ผลตอบแทนภาครัฐ 440,193 ล้านบาท และรัฐได้ผลตอบแทนสุทธิ 210,352 ล้านบาท

ถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของไทย ที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ได้โดยไม่ต้องพึ่งเงินกู้ต่างประเทศเหมือนในอดีต

นอกจากนี้ อนุมัติการลงทุนแล้ว 1.6 ล้านล้านบาท จากมูลค่าเป้าหมายของอีอีซีในแผนแรก (2561-2565) ที่กำหนดไว้ 1.7 ล้านล้านบาท เช่น โครงการเปิดสวนน้ำโคลัมเบีย พิคเจอร์แห่งแรกของโลก

โครงการลงทุนและผลิตแบตเตอรี่เก็บไฟฟ้า ซึ่งร่วมกับ EVLOMO ผู้ประกอบการรายใหญ่ของโลก มีกำลังผลิตแบตเตอรี่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

โครงการพัฒนา EV city บ้านฉาง ดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานสถานีอัดประจุไฟฟ้า ในที่พักอาศัย สถานีบริการ และร้านสะดวกซื้อตลอดจนโครงการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ (ระยองโมเดล)

อีกทั้ง โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) สร้างรายได้ 10,000-15,000 ล้าน/ปี โดยจะเร่งสร้างโรงงานห้องเย็นให้ทันช่วงหน้าทุเรียนปี 2565

การใช้ประโยชน์ 5G ที่ไทยเป็นชาติแรกในอาเซียน ทำให้อีอีซีเป็นที่ดึงดูดนักลงทุนทั่วโลก ขณะนี้ติดตั้งท่อ เสา สาย และสัญญาณ 100% แล้ว เพิ่มผู้ใช้ 5G ในโรงงาน 10,000 แห่ง โรงแรม 300 แห่ง หน่วยราชการ สถานศึกษา โรงพยาบาล อีกทั้งผลักดันให้บ้านฉาง เป็นสมาร์ทซิตี้

รวมทั้งนำ 5G มาใช้พัฒนาภาคเกษตร สร้างระบบเกษตรอัจฉริยะ รวมถึงการสร้างธุรกิจใหม่จาก 5G เช่นการพัฒนาหุ่นยนต์ และระบบออโตเมชั่น ส่งเสริมการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านดิจิทัล

สำหรับแผนลงทุนอีอีซีระยะ 2 ในอีก 5 ปีข้างหน้า (2565-2569) จะต่อยอดและเร่งรัดการลงทุนด้วยการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และวิจัยพัฒนา วงเงินลงทุนรวม 2.2 ล้านล้านบาท มี 3 ส่วนสำคัญ คือ 1.ต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน 200,000 ล้านบาท จากเมืองการบินภาคตะวันออก การพัฒนาพื้นที่ 30 กม. รอบสนามบิน และพัฒนาพื้นที่รอบสถานีหลักรถไฟความเร็วสูงฯ (TOD)

2.ดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมาย ปีละ 400,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในระดับฐานปกติ ปีละ 250,000 ล้านบาท และการลงทุนส่วนเพิ่มที่เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (EV) ดิจิทัล การแพทย์สมัยใหม่การขนส่งโลจิสติกส์ เกษตรสมัยใหม่และอาหาร รวมปีละ 150,000 ล้านบาท

3.เร่งพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนระดับหมู่บ้าน พัฒนาตลาดสด/e-commerce สร้างรายได้ให้ชุมชนเพิ่ม ยกเครื่องการศึกษา สาธารณสุขพื้นฐาน สิ่งแวดล้อมและสาธารณูปโภค

แผน 5 ปีนี้จะทำให้มูลค่าการลงทุนในอีอีซี เพิ่มขึ้นประมาณ 500,000 ล้านบาท/ปี เป็นเครื่องจักรสำคัญผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโต 4.5-5% ต่อปี จะช่วยให้ไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ก้าวสู่ประเทศพัฒนาได้ในปี 2572

“อีอีซี” จึงเป็นแม่เหล็กใหญ่ในการดึงดูดการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ ไม่เพียงช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัว แต่ยังจะทำให้ไทยก้าวสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อย่างยั่งยืนต่อไป

 

ที่มา – https://www.matichon.co.th/columnists/news_3124807

Scroll Up