ไฮสปีดสามสนามบิน เร่งก่อสร้าง ม.ค.67 คมนาคม ถกคณะทำงานส่งมอบพื้นที่

“คมนาคม” ถกคณะทำงานเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่และการรื้อย้ายสาธารณูปโภคไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน ตั้งเป้าส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเริ่มก่อสร้าง ม.ค.2567 ขณะที่ สกพอ.เตรียมหารือร่วมรัฐบาลแก้สัญญา

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะทำงานเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่และการรื้อย้ายสาธารณูปโภค โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา พร้อมระบุว่า คณะทำงานฯ ได้ติดตามและเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่ การรื้อย้ายสาธารณูปโภค การดำเนินงานด้านต่างๆ เช่น การขอใช้พื้นที่บ้านราชวิถี

รวมไปถึงการขอใช้ที่ดินของกรมทางหลวงและการประปานครหลวง การหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการก่อสร้างอุโมงค์บริเวณหลังโรงพยาบาลรามาธิบดี และการดูแลพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ ที่ได้โยกย้ายผู้บุกรุกออกไปแล้ว เพื่อผลักดันให้สามารถดำเนินการต่อไปตามแผนงานได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับความคืบหน้าการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ ให้กับเอกชน การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ดำเนินการส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนตามที่ระบุไว้ในสัญญาในส่วนแรก คือ พื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา เรียบร้อยแล้ว ส่วนความพร้อมในการส่งมอบพื้นที่ช่วงพญาไท – บางซื่อ (ในเมือง) อยู่ระหว่างการดำเนินงานรื้อย้ายท่อน้ำมันในพื้นที่โครงการระยะทางรวม 5,470 เมตร

ช่วงบางซื่อเข้าพื้นที่วางท่อบางส่วนแล้ว

ขณะที่ช่วงบางซื่อ – บ้านกลางกรุง ระยะทาง 190 เมตร ได้วางท่อและตัดต่อแล้วเสร็จพร้อมปรับสภาพพื้นที่คืน ร.ฟ.ท. เรียบร้อยแล้ว ช่วงพญาไท – บางซื่อ วางท่อแล้วเสร็จ 4,500 เมตร และได้เข้าพื้นที่ก่อสร้างวางท่อในบางส่วนแล้ว ในส่วนของการดำเนินงานรื้อย้ายสาธารณูปโภค อยู่ระหว่างการดำเนินงานรื้อย้ายท่อระบายน้ำ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.8 เมตร ใต้คลองสามเสน ซึ่งคาดว่าจะรื้อถอนแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 3.5 เดือน และคาดว่าพื้นที่โครงการฯ จะพร้อมให้เอกชนเข้าก่อสร้างได้ภายในเดือน ม.ค. 2567

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ขณะนี้ทราบว่าทาง ร.ฟ.ท.ได้ทำหนังสือส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ – อู่ตะเภาให้แก่เอกชนคู่สัญญาเรียบร้อย ซึ่งเป็นไปตามสัญญาร่วมลงทุนระบุไว้ แต่ทางภาคเอกชนยังไม่ได้เริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้าง เนื่องจาก ร.ฟ.ท.ยังไม่สามารถออกหนังสืออนุญาตเข้าพื้นที่ (NTP) ให้แก่เอกชนได้ เหตุเพราะตามสัญญากำหนดไว้ว่าจะออกหนังสือ NTP ต่อเมื่อทางเอกชนได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน (BOI)

รอ ครม.เคาะแก้สัญญาส่วนทับซ้อน

ขณะเดียวกัน ปัจจุบันโครงการนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน จากกรณีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มอบหมายให้แก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และโครงการรถไฟความเร็วสูงภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างไทย – จีน ในช่วงพื้นที่ทับซ้อนแนวเส้นทางบางซื่อ – ดอนเมือง โดยแนวทางแก้ไขปัญหาอยู่ระหว่างเจรจาให้เอกชนก่อสร้างโครงการตามพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว และภาครัฐจะมีการทยอยจ่ายเงินชดเชย ส่งผลให้ต้องมีการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน

“ตอนนี้ก็ต้องรอการพิจารณาจากรัฐบาลใหม่ในแนวทางแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน จากการปรับเปลี่ยนการดำเนินโครงการกรณีที่เกิดเหตุสุดวิสัย ทั้งกรณีของการโอนสิทธิบริหารรถไฟแอร์พอร์ตเรลลิงก์ และการก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อนระหว่างสองโครงการ ซึ่งหากตกลงกันแล้วเสร็จ และผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงจะเริ่มขั้นตอนงานก่อสร้าง”

อีอีซีเตรียมหารือรัฐบาลกระตุ้นลงทุน

ทั้งนี้หลังการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา สกพอ.เตรียมหารือร่วมกันกับรัฐบาล เพื่อให้ทิศทางดำเนินงานสอดคล้องและชัดเจนมากขึ้น ซึ่ง สกพอ.มีแผนที่เตรียมไว้เพื่อกระตุ้นการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยเน้นดึงดูดนักลงทุนโดยเฉพาะจากจีน ญี่ปุ่น สหรัฐ และยุโรป เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เช่น การแพทย์ อีวี อิเล็กทรอนิกส์ ไฟฟ้า และ BCG รวมถึงหาวิธีดำเนินการให้สิทธิประโยชน์กับนักลงทุน

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เผยว่า แผนก่อสร้างงานโยธาในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน จะแบ่งออกเป็น 4 ช่วง ประกอบด้วย

1.ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ขณะนี้ ร.ฟ.ท.ได้ทำหนังสือส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้หลังจากเอกชนได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก BOI และแก้ไขสัญญาร่วมทุนแล้วเสร็จ

2.ช่วงสุวรรณภูมิ-พญาไท ซึ่งคือรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ปัจจุบันบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เอกชนผู้ร่วมทุนเป็นผู้สนับสนุนการเดินรถและซ่อมบำรุง

3.ช่วงพญาไท-บางซื่อ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการเวนคืนที่ดิน รื้อย้ายสาธารณูปโภค ซึ่งขณะนี้เหลืองานรื้อย้ายไม่มาก คาดว่าจะเริ่มส่งมอบให้เอกชนเพื่อเริ่มงานก่อสร้างได้ในเดือน ม.ค. 2567

4.ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง กำหนดให้เอกชนก่อสร้างโครงสร้างร่วมไปพร้อมกับทางวิ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน

ที่มา – https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1088732

Scroll Up