โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) อีกหนึ่งบิ๊กโปรเจกต์ของไทยที่มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 276,516 ล้านบาท โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับ บริษัท เอเชียเอราวัน จำกัด ไปเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562 แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถเริ่มตอกเสาเข็มโครงการได้ และยอมรับว่าภาพรวมโครงการนี้ล่าช้าจากแผนมากว่า 2 ปี เนื่องจากยังติดปัญหาการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน
โดยส่วนหนึ่งเป็นการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ให้เอกชนจากผลกระทบจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ลดลง รวมไปถึงปัญหาการใช้พื้นที่ร่วมระหว่างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง ที่ ครม.มีมติให้เจรจากับกลุ่มซีพีเพื่อลงทุนก่อสร้างพื้นที่ร่วมดังกล่าวก่อน และรัฐจะทยอยจ่ายค่างานก่อสร้างให้ เพื่อทำให้โครงการสามารถก่อสร้างได้คล่องตัว รวดเร็วขึ้น และไม่กระทบต่อการปิดพื้นที่ก่อสร้างซ้ำซ้อน
อย่างไรก็ดี ความล่าช้าที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น “จุฬา สุขมานพ” เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ออกมาระบุก่อนหน้านี้ว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา จากการนำเอามติของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ในการเยียวยาเอกชนที่ไม่สามารถให้บริการแอร์พอร์ตลิงก์ได้ในช่วงโควิด และเรื่องของการประเมินเพิ่มข้อความในแนบท้ายสัญญา เกี่ยวกับเรื่องของเหตุสุดวิสัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตมาบรรจุไว้
อีกทั้งตามเงื่อนไขการส่งมอบพื้นที่จะต้องรอให้เอกชนได้รับหนังสืออนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ดังนั้นหากประเมินภาพรวมโครงการ ขณะนี้คาดว่าจะล่าช้าไปประมาณ 1 ปี จากเดิมที่คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2570 ไปเป็น 2571 เพราะโครงการไฮสปีดเทรนปกติใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี ดังนั้นหากเริ่มก่อสร้างในปี 2567 ก็คาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการในปี 2571
ด้านนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ในฐานะกำกับดูแลการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่จะต้องเตรียมความพร้อมส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเริ่มก่อสร้างไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบินนั้น ปัจจุบันทราบว่าการส่งมอบพื้นที่ยังติดปัญหาช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ใช้ทางร่วมกับไฮสปีดเทรนไทย – จีน โดยเรื่องนี้กระทรวงฯ จะเร่งตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจาร่วมกับเอกชน รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาให้ได้ข้อสรุปภายในปีนี้
ขณะที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งแรกของรัฐบาล ซึ่งมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ล่าสุดได้ตั้งเป้าแก้ไขปัญหาในโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบินให้ได้ข้อยุติและแนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินโครงการระหว่าง ร.ฟ.ท. และ บริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด เอกชนคู่สัญญาร่วมลงทุน ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน ม.ค.2567
โดยแนวทางแก้ไขปัญหาที่จะทำให้โครงการเดินหน้าได้นั้น ต้องจับตาการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนที่จะระบุถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเหตุสุดวิสัย เนื่องจากสัญญาเดิมเมื่อ 4 ปีที่แล้วไม่ได้ระบุเอาไว้ ดังนั้นรัฐบาลต้องตัดสินใจในเชิงนโยบายว่าจะเดินหน้าต่ออย่างไร และหาข้อสรุปร่วมกับเอกชนคู่สัญญาให้ได้เร็วที่สุด ทั้งนี้ไฮสปีดเทรนจะต้องใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี โดยส่วนโครงสร้างพื้นฐานจะเสร็จไม่เกิน 3 ปี ดังนั้นถ้าเริ่มนับหนึ่งได้ปีนี้ก็จะได้เห็นโครงการแล้วเสร็จภายในรัฐบาลนี้
ที่มา – https://www.hsr3airports.or.th/category/hot-news/